วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความปลอดภัยของการใช้สารไตรโคลซาน(Triclosan) ในเครื่องสำอาง

ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตว่า สารไตรโคลซาน(Triclosan)ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน(Free chlorine)ในน้ำประปา เกิดเป็นคลอโรฟอร์ม(Chloroform) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยของ Peter Vikesland จาก Virginia Polytechnic Institute and State University ใน Environmental Science & Technology Online News ระบุว่าสารไตรโคลซาน สามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน เกิดเป็นคลอโรฟอร์ม ซึ่งอาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนัง หรือเมื่อสูดดม เข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 นักวิจัยกลุ่มเดิมได้ทำการศึกษา
วิจัยเพิ่มเติม(http://pubs.acs.org/subscribe/journals/esthag-w/2007/feb/science/ee_chloroform.html) และพบว่าเมื่อนำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย(Personal hygiene products) ทั้งที่มีส่วนผสมของไตรโคลซาน และปราศจากไตรโคลซาน จำนวน 16 รายการ มาทำปฏิกิริยากับ Free chorine ที่ pH 7 อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผสมไตรโคลซานจะก่อให้เกิดสารหลายชนิด เช่น (chlorophenoxy)phenol , 2,4-dichlorophenol , 2,4,6- trichlorophenol และ chloroform แต่ถ้าลดอุณหภูมิของน้ำลงจาก 40 องศาเซลเซียส เป็น 30 องศาเซลเซียส ปริมาณคลอโรฟอร์มที่เกิดขึ้นก็จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า สมควรมีการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่อไป
2. เนื่องจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดเป็น คลอโรฟอร์มนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความเข้มข้นของไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ ความเข้มข้นของคลอรีนในน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง ระยะเวลาที่เกิดปฏิกิริยา รวมทั้งอุณหภูมิของน้ำด้วย ขณะนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคยังไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับอันตรายของไตรโคลซานในเครื่องสำอางตามที่เป็นข่าว
3 . ไตรโคลซาน เป็นสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย (Antibacteria) จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดหลายชนิด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ตลอดจนน้ำยาล้างจานด้วย โดยพบว่ามีการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น
4 ขณะนี้ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น รวมทั้งสหภาพยุโรป และอาเซียน
ยังคงอนุญาตให้ใช้สารไตรโคลซานเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ ซึ่งเมื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้สารไตรโคลซานแล้วพบว่า ปัจจุบันสารนี้ยังคงมีความปลอดภัย เมื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
5. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตและนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยในขณะนี้ สำนักงาน
คณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้ใช้สารไตรโคลซานเป็นวัตถุกันเสียที่ความเข้มข้นไม่เกิน 0.3% ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการใช้เครื่องสำอาง อย่าได้ตื่นตระหนกกลัวตามที่เป็นข่าว

อันตรายจากเครื่องสำอาง

บางครั้งเมื่อผู้บริโภคเลือกซื้อและใช้เครื่องสำอางด้วยความระมัดระวังแล้วก็ยังอาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
การระคายเคือง(irritation)เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง(Irritants)เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นกรด หรือด่างสูง ๆ เช่น น้ำยาดัดผม ผลิตภัณฑ์กำจัดขน และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกออกเร็วขึ้น ความรุนแรงของการระคายเคืองจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร และระยะเวลาที่สารสัมผัสกับผิว การระคายเคืองนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนและพบได้บ่อยกว่าอาการแพ้
การแพ้(allergy)เป็นปฏิกิริยาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละคนจึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลผู้บริโภคอาจเกิดความผิดปกติขึ้นทันทีที่สัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ (allergen) หรือมีอาการภายหลังก็ได้ และผู้ที่แพ้สารใดแล้วเมื่อสัมผัสกับสารนั้นเพียงเล็กน้อยก็จะเกิดอาการแพ้ขึ้นได้
ดังนั้น เมื่อใช้เครื่องสำอางแล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้ทันทีแล้วลองพิจารณาทบทวนดูว่าอาจเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เช่น
ทบทวนดูว่าเครื่องสำอางชนิดใดน่าจะเป็นสาเหตุ เพราะบริเวณที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นอาจมีการใช้เครื่องสำอางหลายชนิด เช่น บริเวณใบหน้าอาจใช้เครื่องสำอางหลายชนิด ได้แก่ ครีมล้างหน้า โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด รองพื้นแต่งหน้า แป้งทาหน้า เป็นต้น
เครื่องสำอางที่ใช้เป็นเครื่องสำอางประเภทใด ถ้าเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ หรือเครื่องสำอางควบคุม ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายมากกว่าเครื่องสำอางทั่วไปอยู่แล้ว ลองทบทวนดูว่าได้อ่านฉลากอย่างถี่ถ้วน ใช้ตามวิธีที่ระบุไว้บนฉลาก ด้วยความระมัดระวังตามคำเตือนหรือไม่ อย่างไร
การแพ้สารบางชนิดก็เป็นสาเหตุเฉพาะตัวที่ทำให้เกิดความผิดปกติได้

ค่า SPF ยิ่งมากยิ่งดีจริงหรือ

SPFเป็นอักษรย่อมาจากคำว่าซันโปรเทคชัน แฟ๊กเตอร์(Sun Protection Factor)คำนี้มักจะพบที่ฉลากเครื่องสำอางผสมสารป้องกันแสงแดด ค่า SPF จะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด เพื่อที่ท่านสามารถตัดสินใจได้ว่า ท่านจะถูกแดดได้นานเท่าใดผิวจึงจะไม่ไหม้ เช่น ถ้าปกติผิวหนังของท่านถูกแสงแดดนาน 10 นาที จะแสบร้อน ไหม้ แต่เมื่อท่านทาเครื่องสำอางผสมสารป้องกันแสงแดดที่มีค่าSPF15ท่านจะสามารถถูกแสงแดดได้นานขึ้นถึง10x15=150นาที โดยที่ผิวไม่ไหม้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ถ้าเหวื่อออกมาก หรือว่ายน้ำ หรือมีกิจกรรมใดที่ทำให้เครื่องสำอางนั้นถูกชะล้างออกจากผิวหนังก็จะต้องทาเครื่องสำอางนั้นซ้ำบ่อยๆ ถึงแม้ว่าเครื่องสำอางนั้นจะโฆษณาว่าสามารถกันน้ำได้ ก็อย่าได้ไว้ใจ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพของการป้องกันแสงแดดของผลิตภัณฑ์ที่ทาไว้ย่อมลดลง
สำหรับภูมิอากาศในประเทศไทยซึ่งอากาศร้อน แสงแดดจัด ควรเลือกใช้เครื่องสำอางป้องกันสารกันแสงแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป และที่สำคัญอย่าประมาท อย่าหวังพึ่งแต่ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เพียงอย่างเดียว ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยการไม่ออกไปอยู่กลางแจ้งขณะแสงแดดจัด ถ้าจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรกางร่ม สวมหมวกปีกกว่างหรือสวมเสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายอย่างมิดชิดจะปลอดภัยกว่า

การเลือกซื้อเครื่องสำอาง

เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเองตามความพึงพอใจ อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอางทั่วไป ที่ไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขออนุญาตฉลาก หรือ โฆษณา จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดังนั้นข้อมูลที่ผู้บริโภคได้รับจึงมักเป็นข้อมูลเฉพาะด้านดีจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคจึงต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อเลือกใช้เครื่องสำอาง โดยมีหลักการง่าย ๆ ดังนี้
เครื่องสำอางทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายทั่ว ๆ ไป หรือขายตรงไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้องมีฉลากภาาาไทย ต้องแสดงข้อมูลเบื้องต้นให้ผู้บริโภคได้ทราย เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงตราความต้องการหรือไม่ ที่ฉลากจะต้องแสดงข้อความจำเป็นเบื้องต้น ได้แก่ ชื้อ ประเภทหรือชนิด ชื่อส่วนประกอบสำคัญ ชื่อและที่ตั้งขของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้ และปริมาณสุทธิ
พิจารณาลักษณะของผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ ไม่แตก รั่ว ซึม หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อน ภาชนะบรรจุต้องปิดสนิท มีการเก็บรักษาอย่างดีไม่อยู่ในที่ร้อนชื้นหรือถูกแสงแดด
ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ควรซื้อจากร้านที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ หากมีปัญหาสามารถติดต่อหาผู้รับผิดชอบได้

ประเภทของเครื่องสำอาง

ตามกฎหมายแบ่งเครื่องสำอางตามระดับความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้เป็น 3 ประเภท คือ

กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด จะมีการกำกับดูแลเข้มงวดที่สุด เรียกว่า"เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ"โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องมาขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยก่อนวางจำหน่าย จะสังเกตได้ง่าย ๆ ว่า ที่ฉลากต้องแสดงข้อความเครื่องสำอางควบคุมพิเศษใกล้กับเลขทะเบียนในกรอบเครื่องหมาย อย. ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดัดผม ยืดผม ย้อมผม แต่งผมดำ กำจัดขน ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เป็นต้น
กลุ่มที่มีความเสี่ยงรองลงมา จะมีการกำกับดูแลปานกลาง เรียกว่า"เครื่องสำอางควบคุม"ผู้ประกอบธุรกิจต้องมาจดแจ้งก่อนผลิต หรือนำเข้า จะสังเกตเห็นได้ว่า ที่ฉลากต้องแสดงข้อความ เครื่องสำอางควบคุม ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่ เครื่องสำอางผสมสารป้องกันแสงแดด เครื่องสำอางผสมสารขจัดรังแค ผ้าอนามัย ผ้าเย็น หรือกระดาษเย็นในภาชนะบรรจุที่ปิด แป้งฝุ่นโรยตัว และแป้งน้ำ เป็นต้น
เครื่องสำอางกลุ่มสุดท้ายนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายค่อนข้างน้อยเรียกว่า"เครื่องสำอางทั่วไป"ผู้ผลิตเครื่องสำอางกลุ่มนี้สามารถผลิต จัดทำฉลากและทำการโฆษณาภายในกรอบที่ อย.กำหนดได้เลย โดยไม่ต้องมาแจ้งกับ อย.ก่อนดำเนินการ แต่ถ้าจะนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องมาแจ้งให้ อย.พิจารณาสูตรตำรับก่อนว่าไม่ขัดต่อกฎหมายไทย ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางควบคุม หรือเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ เครื่องสำอางกลุ่มนี้มีมากมาย เช่น แชมพู ครีมนวดผม สเปรย์ หรือเจลแต่งผม ดินสอเขียนคิ้ว เครื่องสำอางแต่งตา ทาแก้ม สบู่ และโฟมล้างหน้า เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2553