ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตว่า สารไตรโคลซาน(Triclosan)ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน(Free chlorine)ในน้ำประปา เกิดเป็นคลอโรฟอร์ม(Chloroform) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยของ Peter Vikesland จาก Virginia Polytechnic Institute and State University ใน Environmental Science & Technology Online News ระบุว่าสารไตรโคลซาน สามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน เกิดเป็นคลอโรฟอร์ม ซึ่งอาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนัง หรือเมื่อสูดดม เข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 นักวิจัยกลุ่มเดิมได้ทำการศึกษา
วิจัยเพิ่มเติม(http://pubs.acs.org/subscribe/journals/esthag-w/2007/feb/science/ee_chloroform.html) และพบว่าเมื่อนำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย(Personal hygiene products) ทั้งที่มีส่วนผสมของไตรโคลซาน และปราศจากไตรโคลซาน จำนวน 16 รายการ มาทำปฏิกิริยากับ Free chorine ที่ pH 7 อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผสมไตรโคลซานจะก่อให้เกิดสารหลายชนิด เช่น (chlorophenoxy)phenol , 2,4-dichlorophenol , 2,4,6- trichlorophenol และ chloroform แต่ถ้าลดอุณหภูมิของน้ำลงจาก 40 องศาเซลเซียส เป็น 30 องศาเซลเซียส ปริมาณคลอโรฟอร์มที่เกิดขึ้นก็จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า สมควรมีการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่อไป
2. เนื่องจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดเป็น คลอโรฟอร์มนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความเข้มข้นของไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ ความเข้มข้นของคลอรีนในน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง ระยะเวลาที่เกิดปฏิกิริยา รวมทั้งอุณหภูมิของน้ำด้วย ขณะนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคยังไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับอันตรายของไตรโคลซานในเครื่องสำอางตามที่เป็นข่าว
3 . ไตรโคลซาน เป็นสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย (Antibacteria) จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดหลายชนิด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ตลอดจนน้ำยาล้างจานด้วย โดยพบว่ามีการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เป็นวัตถุกันเสีย และเป็นสารยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น
4 ขณะนี้ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น รวมทั้งสหภาพยุโรป และอาเซียน
ยังคงอนุญาตให้ใช้สารไตรโคลซานเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ ซึ่งเมื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้สารไตรโคลซานแล้วพบว่า ปัจจุบันสารนี้ยังคงมีความปลอดภัย เมื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
5. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตและนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยในขณะนี้ สำนักงาน
คณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้ใช้สารไตรโคลซานเป็นวัตถุกันเสียที่ความเข้มข้นไม่เกิน 0.3% ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการใช้เครื่องสำอาง อย่าได้ตื่นตระหนกกลัวตามที่เป็นข่าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น